ทำความรู้จักโรคฮ่องเต้ซินโดรมในเด็ก เหตุเกิดจากการเลี้ยงดู

การเลี้ยงลูกคือการปลูกฝั่งนิสัย พฤติกรรม และพื้นฐานความคิดให้กับลูกๆ คุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวต้องทำงาน ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก แต่มีเงินทองให้ใช้เหลือเฟือ อยากได้อะไรก็ซื้อให้ ยิ่งเป็นลูกคนเดียวยิ่งถูกตามใจหนัก การกระทำแบบนี้ต่อลูก อาจส่งผลให้เกิดภาวะ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ได้

ฮ่องเต้ซินโดรม (Little Emperor Syndrome)

คือโรคที่เกิดในเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้อง ตามใจ มากจนเกินไป โดยไม่ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอดทน ผิดหวัง หรือแม้แต่เผชิญความลำบากด้วยตัวเอง และมักจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

อาการของเด็ก

คือ มีลักษณะนิสัยเอาแต่ใจ โดยไม่ได้ทำตามกฎเกณฑ์และกติกาสังคม ขาดความอดทน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้

ผลกระทบต่อเด็ก

1.ทำให้เด็กขาดความยอมรับนับถือในตนเอง (Low Self-Esteem) เพราะได้สิ่งที่ตนเองต้องการมาได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องพยายามอะไร จึงไม่มีความภูมิใจในตนเอง

2.ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง อาจส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนรู้กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะสนใจแต่ความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง

3.ไม่รู้จักควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนเอง

4.ทำให้เด็กเป็นคนไม่มีเหตุผล ขาดตรรกะในวิธีคิดที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

5.มีความอดทนต่ำ เพราะชินกับการได้รับตอบสนองอย่างรวดเร็วจากพ่อแม่

6.มีพฤติกรรมก้าวร้าว

7.ผลการเรียนไม่ดี

8.มีโอกาสที่จะติดสุรา ยาเสพติด

การรักษา

สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่

การป้องกัน

1.ให้เวลาคุณภาพกับลูก แบ่งเวลาอยู่กับลูก พุ่งความสนใจไปที่ลูก มีกิจกรรมร่วมกัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อฝึกให้ลูกเคารพในความคิดเห็นและความต้องการของคนอื่น

2.เมื่อลูกทำผิด ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมทันที ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เพราะลูกจะไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ

3.ตั้งกฏกติกาง่ายๆ ในบ้านกับลูก เพื่อสอนให้ทราบถึงกฏเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เช่น กำหนดเงื่อนไขเวลานอน กิน เล่น ให้ตรงต่อเวลา

4.ให้รางวัลบ้างเมื่อลูกมีความพยายาม สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่สำคัญ เท่าความพยายามทำ

ภาวะฮ่องเต้ซินโดรมเป็นพฤติกรรมด้านไม่ด้านของเด็ก ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว จะส่งผลเสียต่อตัวเด็กในระยะยาว หากสงสัยหรือไม่สามารถปรับพฤติกรรมของลูกได้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที